สำรวจโลกของการขนส่งส่วนบุคคลในอนาคต

กำลังมองหาที่แนวโน้มล่าสุดและนวัตกรรมเทคโนโลยีที่รูปร่างการเดินทางทั่วโลก

   Jan 06

กฎหมายต่อเติมบ้าน สำหรับการรีโนเวทบ้าน ที่ไม่ควรมองข้าม

“บ้าน” ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานที่ยาวนานเป็นสิบ ๆ ปี แน่นอนว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป บ้านต้องมีการเสื่อมโทรมไปตามสภาพ เจ้าของบ้านหลายคน จึงเลือกการต่อเติมบ้าน การรีโนเวทบ้าน เพื่อปรับเปลี่ยนบ้านให้ดูดีกว่าเดิม รวมถึงความต้องการที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าการรีโนเวทบ้าน ของตัวเองนั้น บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฏหมายเช่นกัน

กฏหมายต่อเติมบ้าน และการขออนุญาตดัดแปลง การรีโนเวทบ้าน อาคาร

การดัดแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายรูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก โครงสร้างของอาคารที่ก่อสร้างไว้แล้ว เช่น การต่อเติมหลังคาด้านหลังตึกแถว การต่อเติมหลังคาคลุมชั้นดาดฟ้า การติดตั้งโครงเหล็ก และอื่น ๆ ที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้าง ต้องเป็นไปตามที่กฏหมายควบคุมอาคารกำหนด และจะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะตรวจพิจารณา และแจ้งผลการตรวจพิจารณาภายใน 30 วัน เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว จะต้องแจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน และวันดำเนินการดัดแปลง ตั้งแต่วันที่เริ่มต้น ไปจนถึงวันที่สิ้นสุดต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมทั้งแนบหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุม

ในกรณีที่ทำการรีโนเวทบ้านไปเรียบร้อยแล้ว โดยยังไม่ได้ทำการขออนุญาต ก็สามารถยื่นขออนุญาตย้อนหลังได้ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาที่มีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
– สถาปนิก และวิศวกรผู้ออกแบบ ต้องเป็นวุฒิสถาปนิก และวุฒิวิศวกร
– มีสถาปนิก และวิศกรผู้ได้รับอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ควบคุมงาน
– สำเนาใบอนุญาต และรายการคำนวณที่สถาปนิก และวิศวกรผู้ออกแบบ ลงนามรับรองวันเริ่มต้น และวันสิ้นสุดการดำเนินการ

การรีโนเวทบ้าน ที่ต้องขออนุญาต
การรีโนเวทบ้าน ที่ต้องขออนุญาต กฏหมายควบคุมอาคาร จะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และน้ำหนัก หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่สร้างไว้แล้วผิดไปจากเดิม ได้แก่ เพิ่ม-ลด เติม ขยายลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก ที่ไม่ใช่การซ่อมแซม หรือการดัดแปลงอาคารตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ขยายพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งของอาคารมากกว่า 5 ตารางเมตร เปลี่ยน หรือขยายหลังคาให้ปกคลุมเนื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลกระทบแก่เพื่อนบ้าน หรือมีการเพิ่ม-ลด หรือเปลี่ยนเสา คาน บันได และผนัง ที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง จำเป็นที่จะต้องยื่นขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน

การรีโนเวทบ้านที่ไม่ต้องขออนุญาต
– ต่อเติมโครงสร้างโดยใช้วัสดุเดิม ที่มีขนาด จำนวน และชนิดเดียวกัน เช่น พื้น หรือผนังไม้มีการชำรุด แล้วต้องการเปลี่ยนไม้ทั้งหมด โดยใช้ไม้แบบเดิม จำนวนเท่าเดิม แต่ต้องไม่ใช่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
– การรีโนเวท เปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ที่ไม่ใช่ส่วนของโครงสร้าง หรือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเกินร้อยละ 10 ด้วยวัสดุเดิม หรือวัสดุอื่น เช่น การปรับเปลี่ยน พื้น ผนัง จากไม้ แต่ต้องการเพิ่มกระเบื้องเข้าไป โดยต้องคำนวณดูว่า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา มากกว่าเดิมเกินร้อยละ 10 หรือไม่ ซึ่งถ้าเกินก็ต้องยื่นขออนุญาตดัดแปลงอาคาร
– การรีโนเวทบ้าน เปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ที่ไม่ใช่ส่วนของโครงสร้าง หรือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเกินร้อยละ 10 เช่น ต้องการก่อผนังอิฐแดงเพิ่ม เช่น ผนังกั้นห้อง หรือก่อเค้าท์เตอร์ครัวขึ้นมาใหม่ การปรัปเปลี่ยนรูปทรงประตู ที่มีน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 10 จากน้ำหนักเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องขออนุญาต
– การขยาย หรือลดพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือขยายพื้นที่หลังคา โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน และต้องมีพื้นที่รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร เช่น การต่อเติมระเบียง แต่ต้องระวังไม่ให้กระทบกับเพื่อนบ้านด้วย

ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการต่อเติมโดยพละการ และส่งผลกระทบต่อทั้งผู้อยู่อาศัยในบ้าน เพื่อนบ้าน และสังคม เจ้าของบ้านควรดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องมีมาตรฐาน ลดภาระการดำเนินการแก่เจ้าของบ้าน และสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย

You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. Both comments and pings are currently closed.